000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ > รากเหง้าของหายนะเศรษฐกิจวันนี้ (1)
วันที่ : 19/01/2016
5,766 views

รากเหง้าของหายนะเศรษฐกิจวันนี้ (1)

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

หายนะเศรษฐกิจโลกคราวนี้ บางคนโทษความโลภของกองทุน (โจรใส่สูท) เฮดจ์ฟันด์ (พวกทุนสามานย์) ที่ปั่นราคาตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าแบบผีดิบกระหายเลือดจนโลกแบกรับไม่ไหว เศรษฐกิจรากหญ้าหลอมละลาย ฉุดให้เศรษฐกิจอื่นที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้างบนล้มครืนลงมากันหมดทั้งโลก นี่คือหนึ่งในหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในเวทีการประชุมจี-7 ที่เพิ่มผ่านมาหมาดๆ

                นั่นแค่สิ่งที่เป็นปลายเหตุของปัญหา เป็นภาพลวงตาหลอกหลอนผู้คน เหมือนหมอวินิจฉัยและตั้งสมุหฐานโรคผิดแบบ หลงทางหลงประเด็น และผลก็คือวางยาไม่ถูกโรค เกาไม่ถูกที่คัน แต่ถ้ามองให้ลึกที่สุดแล้ว (เพ่งกสิณ) รากเหง้าของปัญหาจริงๆ น่าจะมาจาก ผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งอดีตที่มนุษย์เริ่มใช้เครื่องจักรในการผลิต นักเศรษฐศาสตร์ (ในกรอบ, ใต้กะลา บูชาคัมภีร์เป็นสรณะ และอวดเบ่งพร้อมเปิดคัมภีร์อ้าง ปกป้องตนเอง) มักพร้อมใจกันกล่าวอ้างว่า เพื่อดึงราคาผลิตภัณฑ์ให้มวลชนเอื้อมถึงได้ ทฤษฎีนี้ได้รับการยกย่องบูชา ฝังหัวกับนักศึกษาที่จบเศรษฐศาสตร์ออกมาทั่วโลกตลอดเกือบ 100 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (นักเศรษฐศาสตร์ คือ ผู้ที่เพ้อเจ้อและไม่ยอมรับความจริงที่ยิ่งกว่าจริง...!)

                ยิ่งในยุคที่ คอมพิวเตอร์ (พระเจ้าองค์ใหม่) สร้างสาวกแผ่กระจายไปทั่วโลกได้อย่างที่ไม่มีพระเจ้าองค์ไหน ศาสนาใดเคยทำได้มาก่อน การผลิตแบบอุตสาหกรรมก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นทวีคูณจนเป็นสูตรสำเร็จสำหรับการขยายอาณาจักรธุรกิจ ไล่ตั้งแต่ระดับปัจเจกชนโรงงาน จนถึงสากลใหญ่ระดับประเทศ “ผลิตให้ถูก ขายให้เยอะ เพื่อครองตลาด” คือ สิ่งเดียวที่พวกเขาท่องอยู่ในใจ

                ขณะที่โรงงานการผลิตทั่วโลกขยายตัวอย่างไฟไหม้ฟาง มันก็เป็นระเบิดเวลารอการปะทุ การจ้างงานเข้าสู่ภาคการผลิตจริง (real-sector) ที่ดูเหมือนจะมากขึ้นตาม แต่นั่นเป็นแค่ภาพลวงตา จริงๆ แล้ว การจ้างงานต่อจำนวนการผลิตที่ได้ “ลดลงมาตลอด” จากการผลิตอย่างใช้ฝีมือและทักษะ 1 ชิ้นต่อ 1 คน ในยุคโบราณ ปัจจุบันด้วยระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมแบบทีละเยอะๆ (mass) อัตราส่วนนี้อาจกลายเป็น 1,000 ชิ้นต่อ 1 คน (แล้วแต่ผลิตภัณฑ์อะไร)

                นั่นหมายความว่า งานที่ควรใช้คนถึง 1,000 คน เพื่อผลิตงาน 1,000 ชิ้น ก็ใช้คนแค่ 1 คน เป็นอันว่า มีคนตกงาน 999 คน (ที่ไม่มีงานทำ ไม่มีข้าวกิน)

                หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ ได้แย่งงานจากคนไปทำ

                จริงอยู่ นักเศรษฐศาสตร์ขึ้นสมอง (ปากคาบคัมภีร์) จะแย้งว่าระบบ mass ช่วยให้สินค้าราคาถูกลงมากและได้มาตรฐานเดียวกัน นั่นมันจริงแค่เฉพาะหน้าอันผิวเผิน

                บั้นปลายของความจริงก็คือ เมื่อหุ่นยนต์แย่งงานจากมวลชนไปเกือบหมด สินค้าถูกอย่างไรก็ขายไม่ได้ เพราะคนไม่มีเงินจะซื้อ ดังปรากฏในวันนี้ วันที่สินค้า “ล้นตลาด” ไปทั่วโลกแทบทุกผลิตภัณฑ์ (over supply) วันที่ทุกโรงงานลดการผลิตกว่าครึ่งและปลดคนงานออกเรื่อยๆ หากคนไม่มีงานทำ ก็ไม่มีเงินซื้อ ต่อให้ขายถูกราคาหั่นลงติดก้นเหว โปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 10 ส่งของให้ถึงปากประตูบ้าน เมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงิน จะเอาปัญญาที่ไหนไปซื้อ

                ในทางกลับกัน สินค้าแพงแค่ไหน ถ้าคนยังมีงานทำ เขาก็ย่อมจะเก็บเงินซื้อได้สักวันหนึ่ง แต่ละคนก็จะมี “วันหนึ่ง” ของตัวเองที่ไม่มีวันพร้อมกัน แต่สุดท้าย ของก็เหมือนขายได้ทุกวัน ผู้ผลิตก็อยู่ได้ ผู้ซื้อก็อยู่ได้ คนก็มีงานทำ เศรษฐกิจทั้งระบบก็มีการขับเคลื่อนอย่างมีพลวัต เป็นกลไกที่จับต้องได้ มีนักเศรษฐศาสตร์สำนักไหนเคยคิดย้อนแย้งเช่นนี้บ้าง

                ด้วยระบบโปรแกรมของคอมพิวเตอร์ในแต่ละผลิตภัณฑ์ มนุษย์ผู้ใช้มันเริ่มสูญเสีย “ทักษะหรือฝีมือ (skill)” การรับจ้างถ่ายรูป คนใช้หุงข้าว คนซักผ้า เด็กล้างรถในปั๊ม ผู้เชี่ยวชาญปรับแต่งเสียงที่ถูกต้องให้ระบบเสียง พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานเก็บค่าน้ำ-ค่าไฟ พนักงานระบบไปรษณีย์ ระบบจราจร พนักงานต้อนรับ พนักงานธนาคาร พนังงานประกัน ผู้ขายแผ่น (ปลีก-ส่ง) ที่ถูกแทนที่ด้วยระบบ online ชาวไร่ชาวนาภาคเกษตร ฯลฯ ล้วนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าแบบโลกาภิวัตน์แผ่ถึงกันทั่วโลก

                ระบบการผลิตสมัยใหม่ ultra-hi, hi-tech ทั้งหมดได้แย่งงานไปจากคน ลดขั้นตอนของสายการทำธุรกิจ ตัดคนกลางออกแทบไม่เหลือ นั่นก็หมายความว่า งานจะหายไปเกือบหมด ยิ่งระบบออนไลน์ ผู้ขาย ผู้ผลิตงาน สามารถขายตรงถึงผู้บริโภคได้เลย ไม่มีร้านค้าส่ง ไม่มีร้านค้าปลีก ไม่มีผู้จัดจำหน่ายอีกต่อไป ระบบการผลิตแบบ mass ได้ทำลายฝีมือ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และลดคุณค่าของ “ความเป็นมนุษย์” สร้างคนรวยกระจุกเดียว การแข่งขันกันของคนรวยไม่กี่กระจุก แต่ทำให้คนค่อนโลกเดือดร้อน ระบบการผลิตแบบ mass เป็นตัวทำลายทรัพยากรธรรมชาติได้รุนแรงที่สุดเช่นกัน เพิ่มต้นทุนทางสังคมที่ประชาชนต้องแบกรับ

                ถึงเวลาแล้วที่มวลชนต้องลุกขึ้นต่อต้านและไม่อุดหนุนการผลิตแบบอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องมองปัญหานี้ให้ทะลุ ต้องแจกงานไม่ใช่แจกเงิน ไม่ใช่(คน)รวยกระจุก (คน)จนกระจาย ไม่มีธุรกิจอะไรอยู่ได้ ถ้าผู้ขายนับวันบั่นทอนกำลังซื้อของตลาด ผู้บริโภคตกงานมากขึ้นๆ กำลังซื้อย่อมหดหายลงทุกวัน มันคือการกัดกินเนื้อตัวเอง สุดท้ายก็ตายหมู่ (เหมาเข่ง)

                เรียนตรงๆ ผมไม่เชื่อว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังใช้แก้เศรษฐกิจล่มสลายคราวนี้จะประสบความสำเร็จ ไม่มีทางเลย มืดมนเข้าทุกวันๆ มีแต่รอวันตาย (แบบมัดมือชก) ตราบใดที่รากเหง้าของปัญหาคือ หุ่นยนต์แย่งงานคนไม่ว่าในระดับภายในประเทศหรือข้ามภูมิภาค ยังไม่ได้รับการแก้ไข ผมกลับมองว่าหลังทุกอย่างล่มสลายหมดนี้ โลกจะเหลืออะไรกันบ้างมากกว่า

                คำว่า “แสงทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” อาจจะกลับมาก็ได้

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459